คำนำ

บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2017 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีมติอนุมัติให้มีการลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตของคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption Council)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้การดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ตลอดจนเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ หรือดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น


คำนิยาม

การทุจริต หมายถึง การกระทำโดยเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การทุจริตแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชั่น การยักยอกทรัพย์สิน และการทุจริตในการรายงานข้อมูล เช่น การตกแต่งบัญชี
การคอร์รัปชั่น หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกระทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้ทั้งต่อองค์กร ตนเอง หรือผู้อื่น การคอร์รัปชั่น ยังครอบคลุมถึง การให้ และ/หรือ รับสินบน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ มอบให้ ให้คำมั่นว่าจะให้ เรียกร้อง หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด กับเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
การติดสินบน หมายถึง การให้ การเสนอ การสัญญาว่าจะให้ การรับ การขอ หรือการเรียกร้องสิ่งที่เป็นทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิ หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม กฏระเบียบ นโยบาย หรือกฎหมาย กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลอื่นใด ที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ
การสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงินแก่พรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง ทั้งนี้การสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงินให้หมายรวมถึงการให้ยืมหรือการบริจาควัสดุอุปกรณ์ใดๆ โดยไม่คิดค่าบริการ
การบริจาคและการให้การสนับสนุน หมายถึง เงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ หรือเงินสมทบ ที่จ่ายให้แก่บุคคล และ/หรือ หน่วยงาน ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรการกุศลอย่างสมเหตุสมผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมตราผลิตภัณฑ์ หรือชื่อเสียงของบริษัท อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และเหมาะสมสอดคล้องตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัท (Code of Conduct) ที่มุ่งเน้นความถูกต้อง โปร่งใส และการมีหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ในการดำเนินธุรกิจ
การเลี้ยงรับรอง หมายถึง การเลี้ยงรับรอง การเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่ม และให้รวมถึงการจัดงาน จัดกิจกรรมสันทนาการเพื่อการพักผ่อน เช่น งานรื่นเริง งานกีฬา เป็นต้น
ของขวัญ ของที่ระลึก ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่าหรือคุณค่าทางจิตใจ ทั้งที่เป็นตัวเงิน หรือมิใช่ตัวเงิน ที่มอบให้ในโอกาสสำคัญต่างๆ ตามประเพณีนิยมหรือวัฒนธรรมด้วยอัธยาศัยไมตรี หรือ ที่ให้เป็นรางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือเพื่อการสงเคราะห์ หรือให้เป็นสินน้ำใจ การให้สิทธิพิเศษในการได้รับบริการ การบันเทิง สันทนาการ ตลอดจนการออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าบริการต้อนรับ ท่องเที่ยว ค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบัตรตั๋ว ฉลากชิงโชครางวัล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการมอบสิ่งของให้ตามมารยาทที่ปฏิบัติในสังคม หรือภายใต้จารีตประเพณีท้องถิ่น เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด ของขวัญในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น

ขอบเขตของนโยบาย

นโยบายนี้ครอบคลุมถึงพนักงานทุกระดับ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานประจำสำนักงานใหญ่ หรือปฏิบัติงานในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ในโรงงาน พนักงานฝึกงาน พนักงานสัญญาจ้าง หรือบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นตลอดจนแนวปฏิบัติเพิ่มเติม (ถ้ามี) อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ พนักงานที่ปฏิบัติงานในบริษัทย่อยของบริษัทฯ จะยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายนี้เช่นกัน


นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ดำเนินการ หรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบข้อบังคับ และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง


แนวทางการปฏิบัติ

  1. ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ หรือบุคคลที่ดำเนินการในนามของบริษัทฯ ต้องไม่เรียกร้อง เสนอ จูงใจ ให้สัญญาหรือรับสินบน หรือการจ่ายเงินอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก
  2. พนักงานของบริษัทฯ ทุกคน ต้องไม่ละเลย เพิกเฉย ในกรณีที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสอบสวนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองแก่พนักงานที่แจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน พยาน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือข้อร้องเรียน (Whistleblowing Policy)
  4. ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการพิจารณาลงโทษทางวินัย ตามที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  5. บริษัทฯ จะทำการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้
  6. นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ ครอบคลุมถึงการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผล และการให้ผลตอบแทน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจ กับพนักงานเพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบ และควบคุมดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  7. การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน แก่บุคคล หรือหน่วยงาน ทั้งของภาครัฐ และเอกชนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีเป้าหมายเพื่อการกุศล โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อคาดหวังผลประโยชน์ หรือสิ่งอื่นใดเป็นการตอบแทน ที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการทุจริต และคอร์รัปชั่น ทั้งนี้การขออนุมัติและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน ให้เป็นไปตามแนวทางของระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ
  8. บริษัทฯ ถือว่าการรับหรือให้ทรัพย์สินหรือสิ่งของเพื่อเป็นของขวัญ/ของที่ระลึกตามขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่ประสงค์ให้บุคลากรของบริษัทฯ รับของขวัญ/ของที่ระลึกที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัยจากพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้การให้หรือรับของขวัญ/ของที่ระลึกดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่เป็นธรรม
  9. ห้ามให้หรือรับของขวัญ/ของที่ระลึก รวมทั้งผลประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อตกลงในทางธุรกิจ
  10. ต้องหลีกเลี่ยงการให้หรือรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่มีลักษณะเป็นสินบนและก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรของบริษัทฯ และส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ
  11. ห้ามเสนอ ให้เงิน หรือบริการ หรือของขวัญ หรือสิ่งที่มีมูลค่า ทั้งกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือเอกชน เพื่อประโยชน์ หรือความได้เปรียบในการทำธุรกิจอย่างไม่เหมาะสม
  12. การขออนุมัติเพื่อให้หรือรับของขวัญ และของที่ระลึกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือแนวทางการปฏิบัติที่บริษัทฯ กำหนดไว้
  13. พนักงาน หรือบุคลากรของบริษัทฯ ทุกคน ต้องร่วมกันสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กร ที่ยึดมั่นว่าการคอร์รัปชั่น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนสร้างความตระหนักในการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และคอร์รัปชั่น
  14. บริษัทฯ จะวางตัวเป็นกลางโดยไม่กระทำการอันเป็นการฝักใฝ่หรือสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเมืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอำนาจการเมือง รวมถึงไม่เข้าร่วมในกิจกรรมของพรรคการเมือง กลุ่มทางการเมือง หรือนักการเมืองคนใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่อนุญาตให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาใช้ทรัพยากรและสถานที่ของบริษัทฯ ในกิจกรรมทางการเมือง
  15. บริษัทฯ ไม่มีนโยบายการปรับลดตำแหน่ง หรือลงโทษ หรือประพฤติมิชอบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้ว่าจะทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม

การกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีอำนาจ ในการออกคำสั่ง หรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น


บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย และกำกับดูแล ให้มีระบบ หรือแนวทางการปฏิบัติที่สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการ หรือผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น
  2. คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการตรวจสอบภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง นโยบายและมาตรการการต่อต้านคอร์ปชั่น รวมทั้งสอบทานแนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการต่างๆ มีการกำหนดการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหาร มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติที่ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น จัดให้มีการสื่อสาร และฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบาย ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่พนักงาน บุคคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย
  4. พนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือปฏิบัติตามคำสั่งที่เกี่ยวข้อง กรณีมีข้อสงสัยหรือพบการฝ่าฝืน จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือรายงานผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสที่บริษัทฯ กำหนดไว้

มาตรการดำเนินการ

กระบวนการในการกำกับดูแลและประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น

  1. จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ ประเมินระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมระบบงานสำคัญต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ระบบการบันทึกบัญชี และการจ่ายชำระเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น
  2. จัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยประเมินระดับความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และกำหนดมาตรการป้องกันและต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่เหมาะสม วิธีวัดผล ตลอดจนทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อลดความเสี่ยง และกำหนดมาตรการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามแผนการบริหารความเสี่ยงที่กำหนดขึ้น

แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

  1. ฝ่ายตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน การกำกับดูแลกิจการ และให้ข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบประจำปี และรายงานผลการตรวจสอบที่มีนัยสำคัญและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ
  2. ฝ่ายบริหารความเสี่ยง รับผิดชอบการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนติดตาม ทบทวน และปรับปรุงแนวปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยนำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ
  3. หากมีการกระทำซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงการฝ่าฝืน การกระทำผิดกฎหมาย หรือจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือแนวปฏิบัติของนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ จะรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ

การสื่อสาร

พนักงานทุกระดับได้รับทราบนโยบายนี้โดยทั่วกัน และจัดให้มีช่องทางสำหรับการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะ รวมทั้งการฝึกอบรมและทำแบบทดสอบ เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าพนักงานมีความเข้าใจในการปฏิบัติตามนโยบายเพียงพอ


การฝ่าฝืน

นโยบายและแนวปฏิบัติของมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ หากผู้ใดละเลย ละเว้น และเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทฯ จะถือว่าผิดวินัย และจะพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัทฯ และหากความผิดนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทฯ จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ได้รับการสอบทานโดยที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 และอนุมัติโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ได้มีมติรับรองบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต