กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรมีบทบาทและหน้าที่ในการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และรอบคอบ มีความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และเป็นธรรมต่อผู้เกี่ยวข้องภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) นอกจากนั้นยังมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแล ฝ่ายจัดการ หรือผู้บริหารในการบริหารกิจการของบริษัทฯ ให้สำเร็จตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติกำหนดกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทฯ ขึ้น เพื่อให้กรรมการบริษัทฯ ทุกคนตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

  1. กำกับดูแลให้บริษัทฯ มีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น โดยยึดหลักการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
    • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ มีความระมัดระวัง (Duty of Care)
    • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Loyalty)
    • ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท รวมทั้งมติของคณะกรรมการบริษัทฯ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Duty of Obedience)
    • ปฏิบัติตามหลักการเปิดเผยข้อมูล โดยเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้ และทันเวลา (Duty of Disclosure)
  2. กำหนดหรือดูแลให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัทฯ เป็นไปเพื่อความยั่งยืน โดยเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่สอดคล้องกับการสร้างคุณค่าให้กับบริษัทฯ ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมโดยรวม
  3. กำหนดและทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการ ทั้งในเรื่องขนาด องค์ประกอบ สัดส่วนกรรมการที่เป็นอิสระที่เหมาะสม และจำเป็นต่อการนำพาองค์กรสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักที่กำหนดไว้
  4. กำกับดูแลให้การสรรหาและคัดเลือกกรรมการมีกระบวนการที่โปร่งใสและชัดเจน เพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับองค์ประกอบที่กำหนดไว้
  5. กำกับดูแลให้กรรมการทุกคนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ
  6. กำกับดูแลให้กรรมการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ลักษณะการประกอบธุรกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนให้ได้รับการเสริมสร้างทักษะและความรู้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ
  7. กำกับดูแลให้มีการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนและการประเมินผลที่เหมาะสม
  8. ดูแลการบริหารและพัฒนาบุคลากรให้มีจำนวน ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และแรงจูงใจที่เหมาะสม
  9. ให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่ธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  10. ดูแลให้ฝ่ายจัดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสะท้อนอยู่ในแผนดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกฝ่ายขององค์กรได้ดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และแผนกลยุทธ์ของกิจการ
  11. จัดให้มีกรอบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศระดับองค์กร ที่สอดคล้องกับความต้องการของกิจการ รวมทั้งดูแลให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาการ ดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยงเพื่อให้กิจการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ
  12. กำกับดูแลให้บริษัทมีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล และมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
  13. ดูแลและจัดการความขัดแย้งของผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างบริษัทฯ กับฝ่ายจัดการ คณะกรรมการหรือ ผู้ถือหุ้น รวมไปถึงการป้องกันการใช้ประโยชน์อันมิควรในทรัพย์สิน ข้อมูล และโอกาสของบริษัทฯ และการทำธุรกรรมกับผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับบริษัทฯ ในลักษณะที่ไม่สมควร
  14. กำกับดูแลให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจนและสื่อสารต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้จริง
  15. กำกับดูแลให้บริษัทมีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีมีการชี้เบาะแส
  16. ให้ความสำคัญและดูแลให้บริษัทฯ มีระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่างๆ ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  17. ติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้หากบริษัทฯ ประสบปัญหาทางการเงิน หรือมีแนวโน้มจะประสบปัญหา คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีแผนในการแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย

ประธานกรรมการมีบทบาทเป็นผู้นำของคณะกรรมการบริษัท โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. เรียกประชุมคณะกรรมการ โดยทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่ต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
  2. กำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการโดยหารือร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการและดูแลให้กรรมการบริษัทฯ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนทันเวลาและชัดเจนก่อนการประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทฯ สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
  3. ดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ตามระเบียบวาระการประชุม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการกำกับดูแลกิจการที่ดี จัดสรรเวลาอย่างเพียงพอและส่งเสริมให้กรรมการทุกท่านมีส่วนร่วมในการอภิปราย ใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ
  4. กำกับดูแลให้มั่นใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ
  5. เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ
  6. ดูแลให้มั่นใจว่า กรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท มีดังต่อไปนี้

  1. คณะกรรมการของบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการในจำนวนที่เหมาะสมกับขนาดและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 5 ท่าน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
  2. คณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดและมีจำนวน ไม่น้อยกว่า 3 คน
  3. ให้คณะกรรมการบริษัทฯ เลือกกรรมการบริษัทฯคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีทุกครั้งให้กรรมการออกจากตำแหน่งหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง และกรรมการที่ออกจากตำแหน่งไปนั้นอาจได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกรรมการใหม่ได้

วันและเวลาของการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จะถูกกำหนดและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ก่อนเริ่มงวดปีบัญชีใหม่ สำหรับการประชุมพิเศษจะจัดขึ้นตามความจำเป็น

คณะกรรมการมีอำนาจอนุมัติในเรื่องต่างๆ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดโดยกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการบริษัทฯ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนพิจารณากลั่นกรองนโยบายและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ และนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาก่อนนำเสนอให้ที่ประชุม ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ โดยอัตราค่าตอบแทนจะพิจารณากำหนดตามความเหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ สภาวะของตลาดโดยทั่วไปเป็นปัจจัยประกอบ รวมทั้งเป็นอัตราที่สามารถเทียบเคียงได้กับอุตสาหกรรมในประเภทและขนาดใกล้เคียงกัน

  1. เมื่อบุคคลใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัทฯ บริษัทฯ จะจัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่เพื่อแนะนำภาพรวมขององค์กร การดำเนินงานของบริษัทฯ กลยุทธ์และแผนงานของบริษัทฯ นอกจากนี้ กรรมการใหม่จะได้รับทราบกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทฯ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อกรรมการใหม่จะได้รับทราบบทบาทหน้าที่ในฐานะกรรมการของบริษัทฯ
  2. ส่งเสริมให้กรรมการได้รับการอบรมและพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การอบรมสัมมนา การบรรยาย รวมทั้งและการดูงานนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัทฯ จะทบทวนและประเมินความเพียงพอและเหมาะสมของกฎบัตรเป็นประจำทุกปี

นอกจากนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ได้จัดให้มีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการบริษัทฯ และฝ่ายจัดการที่ชัดเจน รายละเอียดได้เปิดเผยไว้ภายใต้หัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี”

 

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนประกอบด้วย กรรมการอิสระของบริษัทฯ จำนวน 4 ท่าน

  • เสนอแนวทางและให้ความเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีและนโยบายการจ่ายโบนัสของบริษัทฯ
  • พิจารณาทบทวนการจ่ายโบนัส การขึ้นเงินเดือนรวมทั้งสิ่งจูงใจทางด้านสวัสดิการและผลประโยชน์ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ รวมทั้งญาติของท่านซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทฯ
  • พิจารณาทบทวนและอนุมัติค่าใช้จ่ายของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ
  • พิจารณาทบทวนและในกรณีที่จำเป็นเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนของกรรมการบริษัทฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อย
  • พิจารณาทบทวนและในกรณีที่จำเป็นเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมสวัสดิการ ผลประโยชน์ (เช่น การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้น เบี้ยเลี้ยง เงินอุดหนุนและสวัสดิการอื่นๆ) นโยบายการขึ้นเงินเดือน และการจ่ายโบนัสสำหรับผู้บริหารระดับสูง ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการจะเป็นผู้กำหนดเงินค่าจ้างของพนักงานแต่ละท่าน
  • กำหนดหลักเกณฑ์บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทฯ
  • กำหนดกระบวนการคัดเลือกกรรมการอย่างมีหลักเกณฑ์และโปร่งใส
  • เสนอและ/หรือประเมินบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการบริษัทฯ และสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อยให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลง
  • ประเมินความเป็นอิสระของกรรมการอิสระและประเมินความต้องการว่าจะให้มีกรรมการอิสระท่านใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายคณะกรรมการบริษัทฯ หรือไม่
  • แจ้งรายชื่อกรรมการและสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อยที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้แก่กรรมการบริษัทฯ และเสนอแนะคณะกรรมการบริษัทฯ ว่าสมควรที่จะให้การสนับสนุนกรรมการและสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อยท่านนั้นๆ ให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่
  • พิจารณาทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเสนอแนะการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อคณะกรรมการบริษัทฯ
  • รายงานการปฏิบัติงานและผลการตรวจสอบของคณะกรรมการให้คณะกรรมการบริษัทฯ ทราบ
  • คณะกรรมการบริษัท/คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะร่วมกันหารือกับฝ่ายจัดการในการพิจารณาสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (กรรมการผู้จัดการ / Chief Financial Officer) ตามคุณสมบัติที่บริษัทฯ กำหนดไว้
  • จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี และพิจารณาทบทวนผลการปฎิบัติงาน และรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นประจำทุกปี

เพื่อช่วยให้คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีดุลพินิจในการแต่งตั้งที่ปรึกษาภายนอกที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการพิจารณาทบทวนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน เสนอแนะแผนเกี่ยวกับผลประโยชน์ และสวัสดิการใหม่ๆ สำหรับพนักงาน และ/หรือ ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล

กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกได้

 

คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ได้ประชุมอย่างเป็นทางการทั้งหมด 4 ครั้ง โดยมีผู้สอบบัญชีภายนอกของบริษัทฯ ผู้ตรวจสอบภายใน และฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อสอบทานการปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานทางการบัญชี และการควบคุมภายใน ก่อนการอนุมัติงบการเงินรายไตรมาส และงบการเงินประจำปี รวมทั้ง คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีภายนอก โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วย 1 ครั้ง เพื่อพิจารณาแนวทางและแผนการสอบบัญชี

  • สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
  • สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายใน ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผล และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน
  • พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้ง และเสนอเลิกจ้างบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีภายนอกของบริษัท และเสนอค่าตอบแทนของของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งเข้าประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีภายนอก โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  • พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
  • รายงานกิจกรรมต่างๆ ของคณะกรรมการตรวจสอบบริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ต่อคณะกรรมการบริษัท
  • จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ โดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ทั้งนี้ โดยมีเนื้อหาซึ่งประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    • ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
    • ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    • ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    • จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบบริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบบริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการแต่ละท่าน
    • ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร (charter)
    • รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  • สอบทานให้บริษัทมีนโยบายบริหารความเสี่ยงการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม มีประสิทธิผล และกำกับดูแลคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
  • ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบบริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ หากพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท
    • รายการที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    • การทุจริตหรือมีสิ่งผิดปกติหรือมีความบกพร่องที่สำคัญในระบบควบคุมภายใน
    • การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

    ให้คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ รายงานต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการเห็นสมควร หากคณะกรรมการบริษัทหรือฝ่ายจัดการไม่ดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาดังกล่าว กรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ รายใดรายหนึ่งอาจรายงานว่ามีรายการหรือการกระทำดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • ดำเนินการตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้นให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้สอบบัญชีทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชี ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ได้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบบริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ
  • จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี และพิจารณาทบทวนผลการปฎิบัติงาน และรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี
  • กำกับดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการ ให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท
  • ทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • กำกับดูแลให้มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เหมาะสมเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
  • กำกับดูแลให้คำปรึกษา ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท

เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบบริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ บรรลุเป้าหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ มีอำนาจ ดังนี้

  • อำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายจัดการ
    • คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ มีอำนาจเชิญให้ฝ่ายจัดการ ฝ่ายตรวจสอบภายใน หัวหน้าหน่วยงาน หรือพนักงานของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ความเห็นร่วมประชุม หรือส่งเอกสารตามที่เห็นว่าเกี่ยวข้องและจำเป็น
  • อำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจสอบภายใน
    • ประสานวัตถุประสงค์และความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมภายในให้อยู่ในแนวทางเดียวกันระหว่างผู้ตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชีภายนอกและคณะกรรมการบริษัทฯ
    • ให้ความเห็นชอบในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน
    • ให้หลักประกันในความเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบสอบภายใน
  • อำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีภายนอก
    • สอบทานและประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภายนอก
    • เสนอชื่อและเสนอเลิกจ้างผู้สอบบัญชีภายนอก พร้อมทั้งค่าตอบแทนในการสอบบัญชีประจำปีต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี
    • กำหนดอัตราค่าจ้างในงานบริการและงานที่ปรึกษาอื่นที่ผู้สอบบัญชีภายนอกเป็นผู้ให้บริการ
  • อำนาจในส่วนอื่นๆ

    คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ มีอำนาจในการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้อง และเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยงและกำกับดูแลกิจการ รวมทั้ง มีอำนาจในการว่าจ้างหรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้คำแนะนำและความเห็นได้ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ พิจารณาว่าเหมาะสม

กรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยกรรมการตรวจสอบ บริหารความเสี่ยง และกำกับดูแลกิจการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกได้


Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.