จรรยาบรรณทางธุรกิจ

หน้าหลัก / การกำกับดูแลกิจการที่ดี / จรรยาบรรณทางธุรกิจ

คำนิยาม

จรรยาบรรณ หมายถึง แนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบและแนวทางให้ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทฯ ปฏิบัติตาม โดยใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม
บริษัทฯ หมายถึง บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)
บริษัทย่อย หมายถึง บริษัทซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต
กรรมการบริษัทฯ หมายถึง กรรมการของบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหาร หมายถึง ผู้บริหารระดับ Assistant Vice President (AVP) ขึ้นไปของบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต
พนักงาน หมายถึง พนักงานและลูกจ้างของบริษัทฯ
ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หรืออาจมีผลประโยชน์ใดๆ กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือมีส่วนที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เช่น กรรมการ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งขัน เจ้าหนี้ พนักงาน ชุมชนและสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
คู่ค้า หมายถึง ผู้จำหน่ายสินค้า ผู้ให้เช่า หรือผู้ให้เช่าซื้อ ที่ส่งมอบสินค้าให้บริษัทฯ
คู่สัญญา หมายถึง ผู้ที่ยอมเข้าผูกพันตน และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบตามที่ปรากฏในสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทฯ
ลูกค้า หมายถึง ผู้ซื้อสินค้า ผู้ใช้งานสินค้า และผู้รับบริการ
ธุรกรรม หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมสัญญา หรือการดำเนินการใดๆ กับผู้อื่นทาง การเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น การบริการ การซื้อ การขาย การว่าจ้าง การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การสนับสนุนทางด้านเทคนิคหรือบุคลากร

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ปฎิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยยึดหลักความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม โปร่งใสเป็นสำคัญมาโดยตลอด บริษัทฯ มุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวม ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี บริษัทฯ จึงได้กำหนดจรรณยาบรรณในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน นำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ตรงตามความมุ่งหวังของทั้งบริษัทฯ ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมโดยรวม

แนวทางการดำเนินธุรกิจ

บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริต และคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2017 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีมติอนุมัติให้มีการลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตของคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption Council)

เพื่อให้การดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ตลอดจนเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นฉบับนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ หรือดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น ดังนี้

คำนิยาม

การทุจริต หมายถึง การกระทำโดยเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การทุจริตแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชั่น การยักยอกทรัพย์สิน และการทุจริตในการรายงานข้อมูล เช่นการตกแต่งบัญชี
การคอร์รัปชั่น หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกระทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้ทั้งต่อองค์กร ตนเอง หรือผู้อื่น การคอร์รัปชั่น ยังครอบคลุมถึง การให้ และ/หรือรับสินบน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ มอบให้ ให้คำมั่นว่าจะให้ เรียกร้อง หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด กับเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
การติดสินบน หมายถึง การให้ การเสนอ การสัญญาว่าจะให้ การรับ การขอ หรือการเรียกร้องสิ่งที่เป็น ทรัพยสิน เงิน สิ่งของ สิทธิ หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม กฏระเบียบ นโยบาย หรือกฎหมาย กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลอื่นใด ที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ
การสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงินแก่พรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง ทั้งนี้ การสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงินให้หมายรวมถึงการให้ยืมหรือการบริจาควัสดุอุปกรณ์ใดๆ โดยไม่คิดค่าบริการ

นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกธุรกิจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบข้อบังคับ และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

หน้าที่และความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย และกำกับดูแล ให้มีระบบ หรือแนวทางการปฏิบัติที่สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการ หรือผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น
  2. คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการตรวจสอบภายใน และระบบบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการต่างๆ มีการกำหนดการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
  3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหาร มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติที่ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น จัดให้มีการสื่อสาร และฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบาย ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่พนักงาน บุคคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย
  4. พนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น หรือปฏิบัติตามคำสั่งที่เกี่ยวข้อง กรณีมีข้อสงสัยหรือพบการฝ่าฝืน จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือรายงานผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสที่บริษัทฯ กำหนดไว้

แนวทางการปฏิบัติ

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม (ถ้ามี) อย่างเคร่งครัด
  2. ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ หรือบุคคลที่ดำเนินการในนามของบริษัทฯ ต้องไม่เรียกร้อง เสนอ จูงใจ ให้สัญญาหรือรับสินบน หรือการจ่ายเงินอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก
  3. พนักงานของบริษัทฯ ทุกคน ต้องไม่ละเลย เพิกเฉย ในกรณีที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสอบสวนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  4. บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองแก่พนักงานที่แจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน พยาน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ใน Whistleblower Policy
  5. ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการพิจารณาลงโทษทางวินัย ตามที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  6. บริษัทฯ จะทำการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้
  7. นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้ ครอบคลุมถึงการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผล และการให้ผลตอบแทน โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจ กับพนักงานเพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบ และควบคุมดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  8. การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน แก่บุคคล หรือหน่วยงาน ทั้งของภาครัฐ และเอกชนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีเป้าหมายเพื่อการกุศล โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อคาดหวังผลประโยชน์ หรือสิ่งอื่นใดเป็นการตอบแทน ที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการทุจริต และคอร์รัปชั่น ทั้งนี้การขออนุมัติและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน ให้เป็นไปตามแนวทางของระเบียบปฏิบัติของบริษัทฯ
  9. บริษัทฯ ถือว่าการรับหรือให้ทรัพย์สินหรือสิ่งของเพื่อเป็นของขวัญ/ของที่ระลึกตามขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ไม่ประสงค์ให้บุคลากรของบริษัทฯ รับของขวัญ/ของที่ระลึกที่มีมูลค่าเกินปกติวิสัยจากพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้การให้หรือรับของขวัญ/ของที่ระลึกดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่เป็นธรรม
  10. ห้ามให้หรือรับของขวัญ/ของที่ระลึก รวมทั้งผลประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อตกลงในทางธุรกิจ
  11. ต้องหลีกเลี่ยงการให้หรือรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่มีลักษณะเป็นสินบนและก่อให้เกิด ข้อสงสัยเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรของบริษัทฯ และส่งผลต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ
  12. ห้ามเสนอ ให้เงิน หรือบริการ หรือของขวัญ หรือสิ่งที่มีมูลค่า ทั้งกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือเอกชน เพื่อประโยชน์ หรือความได้เปรียบในการทำธุรกิจอย่างไม่เหมาะสม
  13. การขออนุมัติเพื่อให้หรือรับของขวัญ และของที่ระลึกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือแนวทางการปฏิบัติที่บริษัทฯ กำหนดไว้
  14. พนักงาน หรือบุคลากรของบริษัทฯ ทุกคน ต้องร่วมกันสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กร ที่ยึดมั่นว่าการคอร์รัปชั่น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนสร้างความตระหนักในการดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และคอร์รัปชั่น
  15. บริษัทฯ จะวางตัวเป็นกลางโดยไม่กระทำการอันเป็นการฝักใฝ่หรือสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเมืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอำนาจการเมือง รวมถึงไม่เข้าร่วมในกิจกรรมของพรรคการเมือง กลุ่มทางการเมือง หรือนักการเมืองคนใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่อนุญาตให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาใช้ทรัพยากรและสถานที่ของบริษัทฯ ในกิจกรรมทางการเมือง

การกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมีอำนาจ ในการออกคำสั่ง หรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

การดำเนินการด้านการเมือง

บริษัทฯ จะวางตัวเป็นกลางโดยไม่กระทำการอันเป็นการฝักใฝ่หรือสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเมืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มีอำนาจการเมือง รวมถึงไม่เข้าร่วมในกิจกรรมของพรรคการเมือง กลุ่มทางการเมือง หรือนักการเมืองคนใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่อนุญาตให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาใช้ทรัพยากรและสถานที่ของบริษัทฯ ในกิจกรรมทางการเมือง

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ จะเคารพในสิทธิทางการเมืองของพนักงานในฐานะพลเมืองที่ดีตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

แนวปฏิบัติ

  1. ต้องไม่แสดงออกด้วยวิธีใดๆ ว่า บริษัทฯ มีความเกี่ยวข้อง ฝักใฝ่หรือสนับสนุนการดำเนินการทางการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง
  2. ใช้สิทธิทางการเมืองในนามของบุคคล และหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่ากระทำในนามบริษัทฯ
  3. หลีกเลี่ยงการแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานที่ทำงานหรือในเวลางานอันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงาน

ของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรอง

หลักการ

การรับหรือให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สิน บริการ การอำนวยความสะดวก หรือการเลี้ยงรับรองกับผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ต้องเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละประเทศ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีมูลค่าเหมาะสม และไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจที่ไม่ชอบธรรม

แนวปฏิบัติ

  1. ก่อนการรับหรือให้ของกำนัลและการเลี้ยงรับรองกับผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่าเหมาะสมในแต่ละโอกาส และกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นกำหนดให้กระทำได้
  2. ไม่รับหรือให้ทรัพย์สิน บริการ การเลี้ยงรับรองที่อาจทำให้เกิดอิทธิพล หรือแรงจูงใจในการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดและทำให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบธรรม
  3. ต้องมีหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่แสดงมูลค่าของทรัพย์สิน บริการ หรือการเลี้ยงรับรองนั้นเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
  4. กรณีได้รับมอบหมายหรือได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ไปช่วยเหลือหน่วยงานภายนอก อาจรับทรัพย์สิน บริการ การเลี้ยงรับรองได้ตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่หน่วยงานภายนอกนั้นกำหนดไว้
  5. พึงระมัดระวังทั้งกรณีการให้ทรัพย์สิน บริการ เลี้ยงรับรองแก่ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคล/หน่วยงานภายใน และการรับทรัพย์สิน บริการ เลี้ยงรับรองจากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือบุคคล/หน่วยงานภายใน โดยการให้และการรับดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดโดยไม่เป็นธรรม

คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (whistleblowing policy) โดยมีวัตถุประสงค์ให้พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลภายนอกมีกลไกในการรายงาน ร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส เมื่อทราบหรือพบเห็นการกระทำผิด หรือเป็นผู้เสียหายเดือดร้อนจากการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ โดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกระทำ หรือกลั่นแกล้ง

ช่องทางในการรับข้อร้องเรียน

  • โทรศัพท์ : 02 285 0040
  • โทรสาร : 02 285 0268
  • Email : bod@thaiwah.com, arc@thaiwah.com, ia@thaiwah.com
  • เว็บไซต์ : www.thaiwah.com

กระบวนการในการดำเนินการกับเรื่องที่ถูกร้องเรียน

หน่วยตรวจสอบภายในของบริษัทฯ จะเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องที่ได้รับการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน และรายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจพบต่อคณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงเพื่อพิจารณาต่อไป

กลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส

เรื่องที่แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน รวมถึงชื่อผู้แจ้งจะถูกเก็บเป็นความลับตลอดระยะเวลาการตรวจสอบ และจำกัดการเข้าถึงข้อมูลได้ เฉพาะผู้ที่รับผิดชอบที่มีหน้าที่ตรวจสอบประเด็นที่ร้องเรียนเท่านั้น และหากผู้แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนเชื่อว่าตนถูกละเมิดสิทธิจากการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนก็สามารถรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการบริษัทฯ หรือคณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง หรือหน่วยตรวจสอบภายใน ผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือ ข้อร้องเรียนดังกล่าวข้างต้นโดยทันที เพื่อทำการตรวจสอบและดำเนินการต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ หากพนักงานท่านใดแจ้งเบาะแสด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ หรือแจ้งเบาะแสเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนจะถือเป็นความผิดทางวินัย และหากมีการตรวจสอบพบว่าบุคคลภายนอกท่านใดแจ้งเบาะแสด้วยเจตนาประสงค์ร้าย หรือแจ้งเบาะแสเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนจะถูกดำเนินการที่เหมาะสม รวมถึงการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

บริษัทฯ มีความมุ่งหมายให้ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนของบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณของบริษัทฯ โดยมีกรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

1. ข้อพึงปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการ และ/หรือ ผู้บริหารของบริษัทฯ

  1. ผู้บริหารทุกระดับต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ตลอดจนส่งเสริมให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  2. ผู้บริหารทุกระดับต้องตรวจสอบการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของพนักงานภายใต้การบังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ
  3. ปฏิบัติหน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบรรดาผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทฯ ตลอดเวลา
  4. เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและความจำเป็นจริงๆ และใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบในการพิจารณาแต่ละเรื่องที่นำเสนอ มีการจัดสรรเวลาไว้อย่างพอเพียงสำหรับการพิจารณาและอภิปรายเรื่องสำคัญอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นอิสระจากกัน มีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยกรรมการ หรือผู้บริหารอาวุโสแต่ละท่านในการประชุม
  5. ดูแลให้มั่นใจว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิตามกฏหมายของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงาน คู่ค้า สังคมโดยส่วนรวม คู่แข่งทางการค้า และเจ้าหนี้ จากการกระทำ หรือการตัดสินใจใดๆ ของบริษัทฯ
  6. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และบรรดากลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง และการเติบโตที่มั่นคงของบริษัทฯ
  7. ขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และอย่างเป็นอิสระ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ
  8. กำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการให้อยู่ในลักษณะที่เปรียบเทียบได้กับอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียง และเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และผลปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล
  9. เปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญของบริษัทฯ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา พร้อมข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอหากมี
  10. จัดให้มีระบบตรวจสอบและควบคุมภายใน ทั้งด้านการเงิน การดำเนินงาน และการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ระบบดังกล่าว ควรปฏิบัติร่วมกับการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าในรายการผิดปกติทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้น
  11. ตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อผูกพัน รักษา และกระตุ้นพนักงานที่มีคุณภาพไว้ และปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม โดยปราศจากอคติ รวมทั้งจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย
  12. กำหนดสัดส่วนของกรรมการบริหาร และกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน และมีการแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างกันอย่างชัดเจน โดยมิให้คนหนึ่งคนใดมีอำนาจโดยไม่จำกัด
  13. กำกับดูแลให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจใดๆ ของบริษัทฯ เป็นการปฏิบัติงานบนพื้นฐานหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี อันเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้องตามกฏหมายและหลักจริยธรรมที่เหมาะสม
  14. รักษาความลับในกิจการ หรือข้อมูลของบริษัทฯ ที่ไม่พึงเปิดเผยโดยเคร่งครัด และไม่ใช้ข้อมูลภายใน และ/หรือข้อมูลลับของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตน
  15. การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
  16. การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของผู้บริหารอาวุโสของบริษัทฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการผู้จัดการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ

2. ข้อพึงปฏิบัติสำหรับพนักงานของบริษัทฯ

  1. ทำความเข้าใจหลักการและแนวปฏิบัติต่างๆ ที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบ
  2. ปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่บริษัทฯ กำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ เมื่อไม่มั่นใจว่าสิ่งที่จะกระทำถูกต้องตามจรรยาบรรณของบริษัทฯ หรือไม่
  3. สื่อสารให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานตามหลักจรรยาบรรณ
  4. แจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามจรรยาบรรณ ผ่านช่องทางที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือในกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริง
  5. ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด และสุภาพ เชื่อฟัง ให้เกียรติ และรักษาความสามัคคีระหว่างเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
  6. ปฏิบัติงานด้วยความอุตสาหะ ตรงต่อเวลา และไม่ละทิ้ง หรือหลีกเลี่ยงหน้าที่ หรืองานที่ได้รับมอบหมาย
  7. ปฏิบัติต่อลูกค้าของบริษัทฯ อย่างเป็นธรรมด้วยความสุภาพ ด้วยมารยาทอันดี โดยไม่ชักช้า รักษาความลับของลูกค้า และไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ประโยชน์ของตนเอง และ/หรือผู้เกี่ยวข้อง
  8. ปฏิบัติงานโดยใช้ทรัพย์สิน และทรัพยากรของบริษัทฯ อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งช่วยกันดูแลมิให้ทรัพย์สินของบริษัทฯ เสื่อมค่า หรือสูญหาย
  9. รักษาความลับในกิจการ หรือข้อมูลของบริษัทฯ ที่ไม่พึงเปิดเผยโดยเคร่งครัด และไม่ใช้ข้อมูลภายใน และ/หรือข้อมูลลับของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

3. การกระทำที่เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ

  1. ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  2. แนะนำ ส่งเสริม หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  3. ละเลย เพิกเฉยเมื่อพบเห็นการฝ่าฝืน หรือการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ
  4. ไม่ให้ความร่วมมือหรือขัดขวางการสอบสวนข้อเท็จจริง และการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ให้ข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ผู้ที่กระทำเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณอาจมีความผิดทางวินัยตามระเบียบบริษัทฯ นอกจากนี้อาจได้รับโทษตามกฏหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฏหมาย

4. ข้อพึงปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการบริษัทฯ มีนโยบายที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง บริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและดูแลผู้มีส่วนได้เสียตามสิทธิที่มีตามกฎหมาย ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งขัน เจ้าหนี้ พนักงาน ชุมชน และสังคม สิ่งแวดล้อม

ผู้ถือหุ้น

แนวปฏิบัติ

  1. ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ในการออกเสียงลงคะแนนในการประชุม และในการรับเงินปันผลตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศ โดยจำนวนเงินปันผลดังกล่าวคำนวณจากสัดส่วนการถือหุ้นที่มีในบริษัทฯ
  2. ในการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการอนุมัติประเด็นที่สำคัญในวาระต่างๆ เช่น การเลือกตั้งกรรมการ (ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกกรรมการได้เป็นรายบุคคล) ค่าตอบแทนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น
  3. บริษัทฯ มีนโยบายในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม รวมทั้ง ผู้ถือหุ้นประเภทสถาบันให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถมาร่วมประชุมด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน
  4. บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสนอระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า
  5. รายงานสารสนเทศสำคัญที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ทั้งสารสนเทศที่รายงานตามรอบระยะเวลาบัญชี และสารสนเทศที่รายงานตามเหตุการณ์ ตามกฏหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยจะไม่กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเข้าถึงสารสนเทศของบริษัทฯ
  6. ดำเนินการกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ มีเหตุผล และเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนเพียงพอ
  7. เผยแพร่หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบและศึกษาข้อมูลก่อนการประชุม

ลูกค้า

แนวปฏิบัติ

  1. ดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิต จำหน่ายสินค้า และบริการ ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้า และบริการ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้า และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
  3. ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของลูกค้า รักษาความลับและ/หรือข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ รวมทั้งไม่เรียกรับ หรือยินยอมที่จะรับ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่สุจริตจากลูกค้าทั้งทางตรง และทางอ้อม
  4. ปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้า ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้รีบแจ้งลูกค้าเป็นการล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
  5. จัดให้มีช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถร้องเรียนต่อบริษัทฯ รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ แก้ไขคำร้องเรียนของลูกค้าอย่างเป็นธรรม

คู่ค้า

แนวปฏิบัติ

  1. ดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิต จำหน่ายสินค้า และบริการ ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. รักษาความลับ หรือข้อมูลของคู่ค้า ไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือผู้เกี่ยวข้อง
  3. ปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้า ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้รีบแจ้งคู่ค้าเป็นการล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหา แนวทางแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
  4. ไม่เรียกรับ หรือยินยอมที่จะรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงทางการค้า
  5. หลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับคู่ค้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  6. ไม่ทําธุรกิจกับคู่ค้าที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
  7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้คู่ค้าดําเนินธุรกิจตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม

นโยบายการคัดเลือกคู่ค้า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญหรือบริการ เพื่อประโยชน์ในด้านการบริหารต้นทุนด้านประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำหนดแนวทางปฏิบัติและการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้า ดังนี้

แนวปฏิบัติ

บริษัทฯ มีกำหนดกระบวนการจัดซื้อสินค้าหรือบริการให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยกำหนดอำนาจของผู้อนุมัติเป็นระดับขั้นตามลักษณะและมูลค่าสินค้าหรือบริการตามที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ

บริษัทฯ มีการกำหนดคุณสมบัติของคู่ค้า ดังนี้

  • มีบุคลากร เครื่องจักร อุปกรณ์สินค้า การบริการ คลังสินค้า สถานภาพทางการเงิน และประวัติการดำเนินกิจการที่น่าเชื่อถือ
  • เป็นผู้ที่มีผลงานน่าพอใจ ทั้งด้านคุณภาพสินค้า การบริการ การส่งมอบตามกำหนดเวลา การให้บริการหลังการขาย การรับประกัน หรือเงื่อนไขอื่นๆ ในการทำธุรกรรมตามที่ตกลงร่วมกัน
  • เป็นคู่ค้า/คู่ธุรกิจที่ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับธุรกิจของบริษัทฯ และไม่มีประวัติต้องห้ามทำการค้าอันเนื่องจากการกระทำทุจริต หรืประวัติการละทิ้งงาน หรืออยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทต้องห้ามของทางราชการและเอกชน

คู่แข่งขัน

แนวปฏิบัติ

  1. ปฏิบัติต่อคู่แข่งภายใต้กรอบกติกาและหลักสากลของการแข่งขันที่ดี
  2. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม
  3. ไม่กล่าวหาในทางร้ายต่อคู่แข่ง โดยปราศจากซึ่งมูลแห่งความจริง
  4. ไม่เรียก ไม่รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่แข่งของบริษัทฯ
  5. ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มีต่อคู่แข่งอย่างเคร่งครัด

เจ้าหนี้

แนวปฏิบัติ

  1. ปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม
  2. ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขการค้ำประกัน และการบริหารเงินทุน
  3. เปิดเผยฐานะการเงินอย่างถูกต้องตรงตามกำหนด
  4. ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งหรือเกิดกรณีการผิดนัดชำระหนี้ ให้รีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยเร็ว เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

พนักงาน

แนวปฏิบัติ

  1. ปฏิบัติต่อพนักงานทั้งหมดอย่างยุติธรรม และเป็นไปตามกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ
  2. ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในการจ้างงาน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกันทางเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา อายุ ความพิการ หรือสถานะอื่นใดที่ไม่ได้มีผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงาน
  3. สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรอย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการเจริญก้าวหน้าตามศักยภาพของแต่ละคนด้วย
  4. ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม เหมาะสมตามความรู้ ความสามารถ ผลการปฏิบัติงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบ
  5. จัดให้มีสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมแก่พนักงาน ได้แก่ การรักษาพยาบาล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
  6. จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมการทำงาน โดยคำนึงถึงหลักความปลอดภัย และถูกสุขอนามัย

ชุมชนและสังคม

แนวปฏิบัติ

  1. ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมในชุมชนและสังคม
  2. ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาชุมชน รวมทั้งให้การสนับสนุนในกิจกรรมของชุมชน ที่ก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ และร่วมพัฒนาศักยภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ได้แก่ การพัฒนาอาชีพเกษตรกร การสนันสนุนเทคโนโลยี ความรู้ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำการเกษตร
  3. เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างบริษัทฯ กับชุมชน และสังคมบนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม

สิ่งแวดล้อม

แนวปฏิบัติ

  1. ดำเนินงานตามกฏหมาย มาตรฐาน ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคุมดูแลการบริหารจัดการ การกำจัดของเสีย และ/หรือมลพิษ ทั้งจากกระบวนการผลิต และการใช้งานทั่วไป โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีการติดตามเฝ้าระวัง
  2. ส่งเสริมระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาระบบการผลิตและการดำเนินงานให้มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผล และทบทวน เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  3. ส่งเสริมการพัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  4. ส่งเสริมและดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  5. ส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อลดความขัดแย้ง ในการใช้น้ำกับชุมชน ร่วมพัฒนาฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำในชุมชน
  6. ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม ให้ความรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานทุกระดับ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและรับผิดชอบในการจัดการสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นวัตกรรม

แนวปฏิบัติ

  1. ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม เพื่อการสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งแก่กิจการ ลูกค้า คู่ค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการทบทวนกลยุทธ์ การวางแผนพัฒนา ปรับปรุง การดำเนินงานและ การติดตาม ผลการดำเนินงาน
  2. ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กิจการตามสภาพปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งอาจครอบคลุมการกำหนดรูปแบบธุรกิจ (business model) วิธีคิด มุมมองในการออกแบบ และพัฒนาสินค้า และบริการ การวิจัยการปรับปรุงกระบวนการผลิต และกระบวนการทำงาน รวมทั้งการร่วมมือกับคู่ค้า

5. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นและที่เกิดขึ้นจริงและโอกาสของบริษัทฯ

บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานของตนหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเป็นความขัดแย้งโดยตรงหรือทางอ้อมระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ หรือโดยเฉพาะของลูกค้า

  • ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ใดก็ตามที่ดูเหมือนว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งดังกล่าว ความขัดแย้งหรือความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อการกระทำหรือการตัดสินใจของพนักงานส่งผลต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของพนักงานรายนั้น แต่กลับส่งผลตรงข้ามกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ จนทำให้เป็นการยากที่พนักงานคนนั้นจะดำเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนต่อบริษัทฯ อย่างเป็นกลางและมีประสิทธิภาพ
  • พนักงานต้องแยกแยะเรื่องส่วนตัวของตนออกจากธุรกิจของบริษัทฯ
  • พนักงานต้องไม่รับประโยชน์เป็นการส่วนตัวทางการเงินหรือทางอื่น ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินบริษัทฯ โอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลจากตำแหน่งงานของตน และพนักงานต้องไม่กระทำการใดๆ ที่จะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจบริษัทฯ
  • ธุรกรรมทางการเงินส่วนตัวหรือธุรกรรมอื่นกับผู้ใดที่มีหรือกำลังจะมีความสัมพันธ์กับบริษัทฯ จะต้องอยู่ในรูปของธุรกรรมตามปกติ (arm’s length) กล่าวคือ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อกำหนดตามปกติและที่ทำกันตามประเพณี
  • พนักงานต้องไม่รับผลประโยชน์จากบริษัทฯ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตหรือความเห็นชอบอย่างถูกต้องตามนโยบายบริษัทฯ รวมทั้งเงินกู้ของบริษัทฯ หรือเงินค้ำประกันหนี้สินส่วนตัวของพนักงาน

6. การใช้ข้อมูลภายใน

บริษัทฯ ตระหนักดีว่า การบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ จึงได้กำหนดให้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลภายในที่อาจมีผลกระทบต่อหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทฯ สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ

วัตถุประสงค์

นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและเป็นการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในที่เป็นความลับและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือด้วยเหตุผลอื่นใดอันไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ

การใช้ข้อมูลภายในที่อาจมีผลกระทบต่อหลักทรัพย์

  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในที่เป็นความลับ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์
  • ข้อมูลภายในที่เป็นความลับ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์จะเป็นข้อมูลที่จำกัดอยู่เฉพาะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งมีความรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเท่านั้น
  • ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทฯ ในระหว่างที่ครอบครองข้อมูลภายในที่เป็นความลับ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ในระหว่าง "ระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (“Embargo Period”)"
  • ระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (Embargo Period) หมายถึง ระยะเวลาสองสัปดาห์ก่อนและจนถึงวันประกาศผลการดำเนินงานในแต่ละไตรมาสของสามไตรมาสแรกของแต่ละรอบปีบัญชีของบริษัทฯ และระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนและจนถึงวันประกาศผลการดำเนินงานทางการเงินประจำปีของรอบปีบัญชีนั้น
  • แผนก Corporate Affairs จะแจ้งเตือนกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ให้ทราบเป็นการภายใน ทุกรายไตรมาสถึงระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (“Embargo Period”) ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะประกาศผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จะต้องไม่ทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
  • นอกเหนือจากนโยบายนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (“Insider Trading”) ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดเวลา มิใช่แต่เพียงระยะเวลาปลอดการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยแก่สาธารณชน (“Embargo Period”) ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สาระสำคัญของกฎหมายนี้คือ เมื่อใดก็ตามหากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ครอบครองข้อมูลภายในที่เป็นความลับ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ บุคคลดังกล่าวจะต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในนั้นในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ที่ตนถือครองอยู่ หรือให้ข้อมูลภายในดังกล่าวแก่บุคคลอื่นใด การฝ่าฝืนการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (“Insider Trading”) เป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (“Insider Trading”) ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2539 ซึ่งสามารถดูได้จาก www.sec.or.th

7. การใช้ และการดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทฯ

แนวปฏิบัติ

  1. ใช้ทรัพย์สินของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ
  2. ไม่นำทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือใช้ในทางที่ผิดกฏหมาย หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อบุคคลอื่น
  3. ดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทฯ ไม่ให้สูญหายหรือเสียหาย

8. การไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

แนวปฏิบัติ

  1. ดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฏหมาย ข้อบังคับ และข้อผูกพันตามสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
  2. ดูแลรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ ไม่ให้ถูกละเมิด ทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ หรือนำไปให้บุคคลอื่นใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากบริษัทฯ
  3. เคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ไม่ละเมิดหรือนำผลงานของผู้อื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน เว้นแต่ได้รับอนุญาต หรือให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของผลงาน
  4. รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการกระทำที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ

9. การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน

แนวปฏิบัติ

  1. ปฏิบัติต่อกันด้วยการเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างด้านร่างการ จิตใจ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เพศ อายุ ภาษา สีผิว การศึกษา สถานะทางสังคม
  2. ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน สอดส่องดูแลเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  3. ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในทุกกระบวนการของการจ้างงาน ตั้งแต่การสรรหา การจ่ายค่าตอบแทน เวลาทำงาน และวันหยุด การมอบหมายงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมและพัฒนา การวางแผนความก้าวหน้า โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  4. ไม่ใช้แรงงานบังคับ แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ หรือแรงงานเด็กอันมิชอบด้วยกฎหมาย

10. สุขภาพและความปลอดภัย

แนวปฏิบัติ

  1. ดำเนินงานตามกฏหมาย มาตรฐาน และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ด้านสุขภาพ และความปลอดภัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อช่วยป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
  2. รายงานผู้บังคับบัญชาทันที เมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติทั้งจากเครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ในบริเวณที่ทำงานที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัย
  3. ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ควรกำหนด ประชาสัมพันธ์หรือประกาศแนวทางในการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงควรสอดส่อง ดูแลสุขภาพพนักงานตามความเสี่ยงของงาน
  4. มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจัดทำ ฝึกซ้อม และปรับปรุงแผนฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันหรือลดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของบริษัทฯ พนักงาน คู่ค้าและผู้เกี่ยวข้องอื่น
  5. ส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ และความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานได้อย่างยั่งยืน

11. การจัดสรรและการบริหารทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

แนวปฏิบัติ

  1. จัดสรรทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งมีการกำหนดแผนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ งบประมาณ ทรัพยากรบุคคล ความเร่งด่วน
  2. จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงกำหนดมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ
  3. ส่งเสริมให้พนักงานใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หลีกเลี่ยงการการใช้ระบบ ที่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิของผู้อื่น และไม่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือละเมิดกฏหมาย
  4. พนักงานต้องใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ถูกต้องตามสิทธิที่ได้รับอนุญาต เก็บรักษา และไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้รหัสผ่านของตนสำหรับเข้าใช้งานระบบ
  5. พนักงานต้องใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่บริษัทฯ อนุญาตให้ใช้ โดยปฏิบัติตามข้อกำหนด และคำแนะนำการใช้งานอย่างปลอดภัย และใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของบริษัทฯ เท่านั้น หากพบเห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือความเสียหาย สูญหาย ให้แจ้งต่อหน่วยงานที่ดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทันที

คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่จะต้องรับทราบ ทำความเข้าใจ ปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ในคู่มือจรรยาบรรณนี้ อย่างเคร่งครัด มิใช่การปฏิบัติตาม สมัครใจ และไม่สามารถอ้างอิงว่าไม่ทราบแนวปฏิบัติที่กำหนดขึ้น

ผู้บริหารทุกระดับในองค์กรจะต้องดูแลรับผิดชอบ และถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการให้พนักงานภายใต้สายบังคับบัญชาของตนทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามคู่มือจรรยาบรรณของบริษัทฯ อย่างจริงจัง

บริษัทฯ ไม่พึงปรารถนาที่จะให้การกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ขัดกับหลักจรรยาบรรณที่ดี หากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานผู้ใดกระทำผิดจรรยาบรรณที่กำหนดไว้ จะได้รับโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด และหากมีการกระทำที่เชื่อได้ว่าผิดกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบ และข้อบังคับของภาครัฐ บริษัทฯ จะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐดำเนินการต่อไป

คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดให้มีการทบทวนคู่มือ “จรรยาบรรณ” เป็นประจำทุกปี

คณะกรรมการบริษัทฯ ถือว่า จริยธรรมธุรกิจ เป็นวินัยอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือเป็นการทำผิดวินัย ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามและส่งเสริมให้ผู้อื่นปฏิบัติตามจริยธรรมและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน โดยการกระทำต่อไปนี้ถือเป็นการผิดจริยธรรม

  1. การไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน
  2. แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้อื่นไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน
  3. ละเลย เพิกเฉย เมื่อพบเห็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมฯ ในกรณีที่ตนทราบ
  4. ไม่ให้ความร่วมมือ ขัดขวาง การสืบสวน/สอบสวน ข้อเท็จจริง
  5. การกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องเรียน จากการรายงานการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมฯ
  1. การฝ่าฝืนที่ไม่ร้ายแรง ผู้บริหารจะได้รับหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะระบุลักษณะของการฝ่าฝืนรวมทั้งข้อมูลเหตุที่อาศัยเป็นหลักของการฝ่าฝืนนั้น โดยให้โอกาสผู้บริหารดังกล่าวโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินัยซึ่งแต่งตั้งโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณา และให้ถือคำตัดสินของคณะกรรมการวินัยเป็นที่สิ้นสุด หากมีการฝ่าฝืนเป็นครั้งที่สอง หรือผู้บริหารไม่แก้ไขความผิดจากการฝ่าฝืนในครั้งแรกตามที่ได้รับหนังสือเตือนนั้น ผู้บริหารดังกล่าวจะถูกลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
  2. การฝ่าฝืนร้ายแรง ซึ่งรวมถึงการฝ่าฝืนดังต่อไปนี้ เช่น การให้หรือการรับสินบน การฉ้อโกง การเปิดเผยข้อมูลความลับ หรือทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ ต่อบุคคลที่สาม และการกระทำใดๆ ที่เสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของบริษัทฯ หรือปกปิดไม่รายงานข้อมูล การหารือ หรือเอกสารสำคัญใดๆ ต่อผู้บังคับบัญชา บริษัทฯ อาจพิจารณาเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และโดยไม่จำเป็นต้องออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน
  3. นโยบายและแนวปฏิบัติ ของมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ หากผู้ใดละเลย ละเว้น และเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทฯ บริษัทฯ ถือว่าผิดวินัย และจะพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัทฯ และหากความผิดนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทฯ จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง